Saturday, December 31, 2016

@Nepal-Withlove : หุบเขากาฐมาณฑุ


เมื่อชะตาลิขิต

เนปาล...ประเทศที่ไม่เคยคิด ไม่เคยมีเป้าหมายว่าจะไป เพราะภาพลักษณ์ล้วนแต่มีสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความเชื่อ ศาสนา ปรัชญา และตนเองก็ไม่ใช่ผู้แสวงหาในแนวทางนั้น

จนอยู่ๆ มีโอกาสรู้จักสาวน้อย ซาบรีน่า หญิงสาวพลัดถิ่นจากประเทศนั้นมาเรียนต่อไกลถึงเมืองไทย ภาพลักษณ์ของเนปาลเปลี่ยนไปมากมายเพราะได้รู้จักและพูดคุยกับเธอ

"พี่คะ หนูจะกลับไปเยี่ยมบ้าน พี่อยากไปเที่ยวเนปาลกับหนูไหมคะ"

คำถามสั้นๆ มีเวลาคิดเพียงวันสองวัน แล้วฉันก็รับปากมาประเทศที่ชื่อคุ้นเคยว่าเป็นดินแดนศักสิทธิ์ หลากความเชื่อ ล้ำลึกเชิงวัฒนธรรม ตอนนั้นคิดเพียงว่า หากมีโอกาสเที่ยวประเทศนี้สักครั้ง การไปกับคนถิ่น ที่รู้ลึก รู้จริง น่าจะโอกาสดีเป็นที่สุด

เตรียมตัว

เนปาล เป็นประเทศที่ต้องขอวีซ่าในการเข้าประเทศ เลือกทำได้ที่สถานที่ทูตเนปาลประจำประเทศไทย (http://www.nepalembassybangkok.com/visathai.php) หรือจะไปขอวีซ่าได้ที่สถามบินเมื่อถึงเนปาลได้เลย (Visa on Arrival) โดยใช้หลักฐานง่ายๆ แค่
  • หนังสือเดินทาง (ที่มีอายุการใช้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน)
  • สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ฉบับ
  • แบบฟอร์มการขอวีซ่าดาวโหลดได้จากเว็บไซต์เบื้องต้น (กรอกหรือพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ)
  • รูปถ่ายสี 1 รูป (ขนาด 2x2 นิ้ว ที่มีพื้นหลังเป็นสีอ่อน ไม่มีลวดลาย ไม่สวมแว่นตากันแดด) ติดที่มุมขวาของแบบฟอร์มขอวีซ่า
  • ค่าธรรมเนียม (25 US$ สำหรับ 15 วัน)
นอกจากวีซ่า ก่อนไปควรเช็คสภาพอากาศก่อน เพื่อการเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะสม เนปาลอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย มีสี่ฤดู บางช่วงประเทศนี้อากาศหนาวกว่าไทยมาก สามารถเช็คสภาพอากาศได้ที่ http://www.holiday-weather.com/kathmandu/averages/ (สามารถเลือกเมืองที่จะไปได้)

ตั๋วเครื่องบิน จากประเทศไทยมีสายการบินหลายสายเดินทางไปเนปาล ราคาค่าตั๋วต่างกันเล็กน้อย สายการบินเนปาล ให้บริการได้ไม่เลว เครื่องบินใหม่ อาหารก็พอใช้ได้ หากต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ ก็ลองสายการบินนี้ก็ไม่เลว


สวัสดีกาฐมาณฑุ

สามชั่วโมงจากเมืองไทย เท้าก็แตะลงกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล เมืองนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา เมื่อเที่ยบกับกรุงเทพแล้ว เมืองนี้น่าจะมีขนาดเล็ก และมีความเจริญทางวัตถุน้อยกว่าอยู่พอสมควร ถนนหนทาง สิ่งก่อสร้างหลายแห่งอยู่ระหว่างแก้ไข เพิ่มเติมเป็นผลจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ที่ได้ทำลายอาการบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างไปมากมาย นอกจากนั้นการก่อสร้างใหม่ๆ อาจเป็นผลจากความเจริญที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาตามความเปลี่ยนแปลงของโลก

โรงแรมที่พักมีหลายระดับให้เลือก บริเวณที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวคือย่านทาเมล (Thamel) เนื่องจากเป็นย่านใจกลาเมือง และใกล้สถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ หลายแห่งในกาฐมาณฑุ ครั้งนี้ได้พักที่โรงแรมเล็กๆ ชื่อ Hotel Bhishwonath




อากาศปลายเดือนธันวาคมเย็นสบาย ด้วยอุณหภูมิต่ำกว่าเมืองไทยกว่าสิบองศา ตอนเช้าใกล้ๆ โรงแรมมีร้านขายของที่ระลึก มีร้านชา ร้านขายงานฝีมือพื้นเมืองให้เลือกซื้อ ยามเช้า ริมถนนมีพ่อค้ายกเตาแกสเล็กๆ มาขายชาร้อนริมถนนเป็นระยะๆ บรรยากาศดูแปลกตาสำหรับคนไทยอย่างเรา แต่สำหรับฉัน...
ทาเมลมีเสน่ห์ในแบบของมัน

ร้านขายของที่ระลึกย่นทาเมล



ร้านขายของริมทางเดินยามเช้า

บรรยากาศง่ายๆ ที่ย่านทาเมล

สิ่งที่สัมผัสแรกได้คือ ผู้คนดูเป็นมิตร (กว่าที่เคยคิดและมโนไปเองเอาไว้) ผู้ชายมักมาทำงานออกหน้า (เดาเอาเองว่าผู้ชายเป็นใหญ่) เพราะไม่ค่อยเห็นผู้หญิงออกมาทำงานด้านหน้าร้าน หรือในโรงแรมที่พักมากนัก ในร้านอาหาร พนักงานชายเท่านั้นที่เป็นคนเสิรฟ ขับรถ ขายของฯลฯ

ถึงตรงนี้ ....จุดเริ่มต้นของประสบการ์ใหม่ของฉัน เริ่มต้นขึ้นแล้ว

No comments:

Post a Comment