Monday, May 29, 2017

Toastmasters Speech: Guide to the First 10 Speeches (Speech 2)




หลักการของ Project ที่สองงองการนำเสนอใน toastmasters club ได้แก่ การนำเสนอแบบมีระบบมากขึ้น มีโครงสร้างของการนำเสนอที่ชัดเจนกว่าใน Speech 1 ไม่ว่าจะเป็น มีส่วนที่เป็นการเกริ่นนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป โดยใน Speech ที่ 2 นี้จะมีกำหนดเวลาในการนำเสนอ:  5-7 นาที

การเลือกหัวข้อ
การเลือกหัวข้อใน Speech 2 อาจจะสร้างความลำบากใจให้กับ Toastmasters มือใหม่ เลือกพูดเรื่องอะไรดี? อะไรจะไม่มากไป ไม่น้อยไป มีคำแนะนำในการเลือกหัวข้อดังนี้
  • ไม่เลือกหัวข้อที่ยากเกินไป หรือทำให้เราต้องจำมากเกินไป ควรเลือกหัวข้อง่ายๆ ใกล้ตัว เพราะ Speech ที่ 2 เป็นการฝึกพูดให้คล่องขึ้น เรื่องใกล้ตัว เรื่องง่ายๆ จึงน่าจะช่วยให้สามารถพูดได้อย่างสะดวกปาก ไม่ต้องไปกังวลเรื่องการจำข้อมูล
  • ต้องพิจารณากลุ่มผู้ฟัง ว่าเป็นกลุ่มไหน น่าจะสนใจเรื่องอะไร ไม่ควรเลือกหัวข้อที่ยากหรืออาจไม่เป็นที่สนใจของกลุ่มผู้ฟัง
  • หลักการสำคัญคือ Speech ต้องมี 3 ส่วน ได้แก่ (1) การเกริ่นนำ (2) เนื้อเรื่องหลัก หรือ body (3) บทสรุป 
  • การเกริ่นนำทำได้หลายแบบ อาจเริ่มต้นด้วยคำถาม เช่น เวลาว่างส่วนใหญ่ของคุณใช้ทำอะไร? ... จากสถิติพบว่าส่วนใหญ่ใช้ไปกับการท่องเที่ยว เป็นต้น (บทความเกี่ยวกับการนำเสนอสถานที่ หรือวิธีการท่องเที่ยว) หรืออาจเริ่มต้นด้วยสถิติ เช่น จากสถิติของประเทศไทย เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุด การท่องเที่ยวจึงสำคัญสำหรับประเทศไทย วันนี้จึงจะมาเล่าเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นต้น
  • ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นการขยายความจากการเกริ่นนำ โดยควรจัดแบ่งเป็นข้อๆ ให้จำง่าย มีสถิติ หรือข้อมูลสนับสนุน หลักการคือ ไม่ควรมีการอธิบายมากเกินไป หรือลึกเกินไป เพราะจะทำให้กินเวลามากเกินจำเป็น
  • บทสรุป ทำอย่างไรให้ผู้ฟังจดจำได้ จบด้วยคำถาม จบด้วยตัวอย่าง จบด้วยคำคม เป็นต้น
[Competent Communicator Manual]

สิ่งที่ไม่ควรทำ
  • กล่าวขอโทษ บอกว่าการพูดครั้งนี้อาจไม่พร้อมเท่าที่ควร
  • เล่าเรื่องตลก โดยที่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับหัวข้อ
  • ขยายความมากเกินจำเป็นจนทำให้เวลาเกินกำหนด
  • การขยับมือ ขยับแขน เคลื่อนตัวเร็วเกินไป
  • พูดเร็วเกินไป ควรพูดช้าๆ ชัดๆ ระมัดระวังเรื่องการพูดเร็วเกินไป
การลดสิ่งที่ไม่ควรทำให้เหลือน้อยที่สุด ทำได้โดยผู้พูดควรฝึกซ้อมการพูดหลายๆ ครั้ง เพื่อลดความตื่นเต้น ช่วยให้จำข้อมูลได้ ลดการพูดข้อมูลที่อาจพูดเกินไปโดยไม่จำเป็น

ตัวอย่าง Speech 2

Thursday, May 25, 2017

เรื่องควรรู้สำหรับ Toastmasters มือใหม่

Toastmasters Club ตั้งมาในประเทศไทยนานแล้ว แต่ยังมีคนไทยอีกมากที่ไม่รู้จักคลับนี้ ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปเยือน Toastmasters คลับไหน หรือสมัครสมาชิกแล้ว ถือว่าคุณเป็นหนึ่งในผู้โชคดี ที่ค้นพบวิธีการในการพัฒนาตัวเองอีกทางหนึ่งแล้ว




สำหรับสมาชิกใหม่ สิ่งแรกที่คุณได้รับคือคู่มือสองเล่ม ได้แก่ CC (Competent Communication) และ CL (Competent Leader) Manual ได้รับมาแล้วคงจะงงๆ ว่ามันคืออะไร จะขอเล่าทีละคู่มือเพื่อให้สมาชิกใหม่ได้เข้าใจในเบื้องต้น

Toastmasters  จะเน้นเรื่องการฝึกพูดต่อหน้าผู้อื่น CC (Competent Communication) Manual เป็นคู่มือที่แนะนำการพูด หรือการนำเสนอใน 10 เรื่องแรก (หรือ 10 speeches) ซึ่งสมาชิก Toastmasters ทุกคนจะต้องทำ เพื่อเป็นการฝึกการนำเสนอต่อหน้าผู้อื่น



จากประสบการณ์ที่เข้าคลับมาสองปีกว่า มีข้อคิด ข้อแนะนำสำหรับสมาชิกใหม่ดังนี้ค่ะ

ไม่รีบทำ Speech ทำเมื่อพร้อม แต่ทำไม่หยุด
มีหลายคนคิดว่า ต้องรีบทำ CC ให้เร็วที่สุด หรือเสร็จ 10 Speeches ให้ได้ภายใน 3 เดือน หรือ 6 เดือน
สำหรับตัวเองคิดว่า การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญ และหากไม่พร้อมจริงๆ การเร่งรัดทำให้เสร็จๆ ไป ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรกับคนทำเท่าที่ควร  ประสบการณ์ที่ได้จากการเตรียมตัวสำคัญมากกว่า และเราจะได้เรียนรู้จากตรงนั้น

การทำ Speech ทุกครั้ง แนะนำว่าควรมีการร่างก่อน โดยบางท่านก็ชอบร่างละเอียด บางท่านก็ร่างคร่าวๆ ส่วนนี้แล้วแต่ความถนัด อย่างไรก็ตาม ท่านที่ร่างคร่าวๆ อย่าให้คร่าวจนเกินไป ควรมีรายละเอียดเพื่อที่จะให้ซ้อมได้เหมือนๆ กันทุกครั้ง เพื่อจะได้ดูว่าเวลาที่จำกัดนั้น เราพูดได้ครบถ้วนที่ต้องการหรือไม่

วางแผนยาวๆ เสมอ
หากเป็นไปได้ เราวางแผนคร่าวๆ สำหรับ 10 Speeches เลย จะดีมาก เพราะการพูด 10 เรื่องนั้นควรเป็นเรื่องไม่ซ้ำกัน ดังนั้นแนะนำให้ list เรื่องที่เรารู้ หรือสนใจที่จะพูดทุกเรื่องออกมา แล้วพิจารณาเลือกว่าเรื่องไหนเหมาะกับการพูดแบบไหน เช่น เรื่องท่องเที่ยว เหมาะกับการพูดใน Speeches ที่ 8 ที่ Get Comfortable with Visual Aids เป็นต้น เพราะเราจะได้ทำ presentation หรือมีรูปประกอบการเล่าเรื่องได้

หากไม่สามารถวางแผนทั้ง 10 เรื่องได้ อย่างน้อยวางแผน 2-3 เรื่องล่วงหน้า เราจะได้มีเวลาในการค้นข้อมูล และเตรียมการอื่นๆ หรือเปลี่ยนได้ทันหากมีผู้ที่ใช้หัวข้อใกล้เคียงกับเราในการประชุมครั้งก่อนหน้า

หาที่ปรึกษา และปรึกษา
เสน่ห์อย่างหนึ่งของ Toastmasters คือการพร้อมที่จะช่วยเหลือกัน การหาที่ปรึกษาไม่ยากเลย โดยทั่วไปแต่ละคลับ จะมีการกำหนดพี่เลี้ยงคอยช่วยอยู่แล้ว หากเรายังรู้สึกไม่พอ ก็สามารถสอบถาม หรือขอคำแนะนำได้จากทุกคนในคลับ

ที่ปรึกษาส่วนใหญ่คือผู้มีประสบการณ์เคยทำ Speeches มาแล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะสามารถให้คำแนะนำได้ว่า อะไรควรไม่ควร หรืออาจจะแนะนำหัวข้อ ประเด็นที่ควรเพิ่มหรือตัดออกจาก Speeches ของเราได้

ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อรู้จัก Toastmasters มากขึ้น




Tuesday, May 23, 2017

Toastmasters Speech: Guide to the First 10 Speeches (Speech 1)




Toastmasters Speech or Project 1 : Ice Breaker

หลักการของ Project แรกของการนำเสนอใน toastmasters club ได้แก่ เราจะนำเสนออะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับตัวเรา หรือการแนะนำตัวให้เพื่อนๆ ในคลับรู้จักนั่นเอง ถ้าอ่านจากใน Manual ของ CC (Competent Communicator) มี guide อยู่หน้าปกแบบรูปด้านล่าง ขอให้เริ่มด้วยการเข้าไปอ่านวัตถุประสงค์ของ Project นี้ก่อน



[Competent Communicator Manual]

 ตัวอย่างแนวคิด : 
  • เรื่องของฉันกับเหตุผลที่ทำให้อยากพัฒนาภาษาอังกฤษ
  • เรื่องของฉันกับครอบครัว (เกิดที่ไหน ลักษณะที่บ้านเกิดมีวัฒนธรรมที่ต่างจากที่อื่นอย่างไร มีสถานที่เกี่ยวอะไรน่าสนใจบ้าง)
  • เรื่องของฉันบางเรื่องที่ไม่มีใครรู้ (เล่าเรื่องข้อมูลพื้นฐานของตัวเองก่อน แล้วอธิบายฉันเป็นคนยังไง มีอะไรที่ไปทำแล้วประทับใจ สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ฉันอยากข้ามไปให้ได้แต่ไม่มีใครรู้) เป็นต้น
  • เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เปลี่ยนชีวิตคุณ (เล่าเรื่องข้อมูลพื้นฐานของตัวเองก่อน แล้วก็ไปเล่าถึงเรื่องที่เป็นเหตุการณ์สำคัญของชีวิตที่เปลี่ยนชีวิตคุณ หรือให้ข้อคิดที่ใช้มาจนปัจจุบัน)
Tips&Tricks :
  • ใช้ศัพท์ที่เข้าใจง่ายก่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นศัพท์ขั้นสูง
  • ใช้กระดาษโน้ตได้ แต่ควรใช้ให้น้อย หรือท่องบทพูดไปให้เยอะพอสมควร
  • ทำตัวสบายๆ เล่าเรื่องง่ายๆ ไม่ควรเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไป
  • ระมัดระวังเรื่องเวลา Project นี้ให้เวลา 6 นาที ควรซ้อมและให้เวลาอยู่ระหว่าง 5-6 นาที ระวังการพูดเกิน หรือเสริมในเรื่องที่ไม่ได้ซ้อม
  • หลังจากร่างคร่าวๆ อาจขอความคิดเห็นจากสมาชิกในชมรม เพื่อให้คำแนะนำว่าข้อมูลมากไป น้อยไป หรือเนื้อความเหมาะสมหรือไม่
  • พูดช้าๆ การพูดครั้งแรก มักจะติดอ่าง พูดคำซ้ำ (เช่น and um ah) ให้ระวัง การซ้อมมากๆ ช่วยได้
  • อย่าคิดว่าเราจะต้องพูดได้ดีอย่างนักพูดได้ใน speech แรก ให้คิดว่าเรามาฝึก เล่าแบบช้าๆ ชัดๆ ไม่ดีก็ไม่เป็นไรเพราะเราต้องฝึกอีก 
  • ไม่ต้องกล่าวขอโทษในกรณีที่ทำอะไรผิด ปล่อยเลยตามเลย หากจำอะไรไม่ได้ ก็ปล่อยเลยตามเลย ให้ข้ามไปต่อส่วนที่จำได้ (การซ้อมจะช่วยลดการลืมบทพูดได้)
  • ไปก่อนเวลา เพื่อไปทำใจให้สงบ เพื่อทำตัวให้คุ้นกับบรรยากาศ
ตัวอย่าง

Monday, May 22, 2017

ออกแบบ Presentation โดนใจ

การออกแบบเอกสารนำเสนอให้ดูน่าสนใจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องยาก และต้องมีความรู้ทางการออกแบบขั้นสูง ซึ่งไม่จริงเลย ปัจจุบันเราสามารถออกแบบเอกสารนำเสนอหรือ Presentation ได้ออกมาสวยเหมือนมืออาชีพด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่มีให้ฟรี และเทคนิคอีกเล็กน้อย


หลักการเบื้องต้น

(1) ภาพรวมการนำเสนอ: การทำ presentation โดยทั่วไปมีแค่ 2 แบบคือ แบบการนำเสนอเรื่องราว (เช่น เล่าเรื่องการไปสัมมนา สรุปข้อมูลผลงานวิจัย เป็นต้น) กับการขอความคิดเห็นที่ประชุม การเล่าเรื่องของทัังสองแบบมีความคล้ายกัน โดยหลักๆ คือ จะต้องบอกที่มา ใส่ข้อมูลที่ผู้ฟังจะต้องรู้ และสรุปตอนท้าย ว่าอยากให้คนฟัง action อะไร หรือได้อะไรจากข้อมูลการนำเสนอของเรา


 presentation ส่วนใหญ่ ส่วนที่ขาดหายไปคือ สรุป หรือ action ที่จะให้คนฟังตัดสินใจ ทำให้คนฟังไม่รู้ว่าพูดจบแล้วจะต้องคิด หรือให้ความเห็นเรื่องอะไร หรือไม่ ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงสำหรับการนำเสนอ และหากมีการส่งเอกสารนั้นต่อไปยังผู้อื่น คนที่ได้รับเอกสาร จะยิ่งไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอะไรกับเอกสารนั้น เพราะไม่มีข้อมูลส่วน action นั่นเอง

(2) เลือกจุดเด่น - ตัวหนังสือน้อยเข้าไว้ : การทำเอกสารนำเสนอ ต้องคิดไว้ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้คนดูการนำเสนอนั้นอ่านข้อมูลได้เร็วที่สุด จำได้มากที่สุด การที่มีตัวหนังสือเยอะ หลายบรรทัด จะจำกัดความจำของผู้ดูเป็นอย่างมาก ดังนั้นการจัดตัวอีกษรให้พอเหมาะพอดีจึงสำคัญ หลักการก็คือ เนื้อหาควรมีสัดส่วนประมาณ 20-25% ของทั้งหน้าเท่านั้น หากไม่ได้จริงๆ เนื้อหาที่เป็นจุดเด่น ควรจะมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักรวมๆ 20-25% ของภาพ ดังรูปด้านล่าง หน้าสุดท้ายเป็นตัวอย่างการจัดตัวหนังสือให้เด่น ไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบ ก็ทำให้ slide เด่นขึ้นมาได้


[ตัวหนังสือเต็มพรืด อ่านไม่ทัน]

[จัดใหม่ ตัดข้อความที่ไม่สำคัญออก จัดขนาดตัวอักษร]

(3) FOCUS - อย่านำเสนอหลายสิ่งใน slide หน้าเดียว เพราะจะทำให้คนอ่านสับสน ความพยายามน้อย ความจำสั้น


 [ข้อมูลน้อยๆ แต่ชัดๆ เด่นๆ]

(4) หลักการสมมาตร (BALANCE) การออกแบบที่ทำให้สองด้านเท่ากัน ทั้งด้านแนวตั้งและแนวนอน จะช่วยให้คนดูรู้สึกสบาย อ่านง่าย และทำให้ slide ดูเรียบสวยได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่มีแค่ตัวหนังสือ ดังตัวอย่างด้านล่าง


(5) RULE OF THIRDS/ BALANCE แบ่ง slide ออกเป็นส่วนๆ 3 ส่วน และจัดวางให้ balance กัน คำว่า balance ไม่ได้หมายถึงต้องอยู่ตรงกลาง แต่ให้ความรู้สึกทั้งสองด้านเท่าๆ กันไม่หนักไม่ด้านใดด้านหนึ่ง ดังรูป









การนำเสนอกราฟ 

ต้องมีขนาดใหญ่พอ ตัวหนังสือไม่เล็กเกินไป ไม่มีคำอธิบายที่รกรุงรัง เพื่อการเข้าใจข้อมูลที่รวดเร็ว ด้านล่างเป็นการเลือกใช้กราฟ และการนำเสนอแบบต่างๆ





การเลือกใช้สี 

ให้เลือกใช้สีที่ไม่ใช่โทนจัดเกินไป การเลือกโทนจัดเกินไป ไม่ควรให้สีตัดกัน โดยดูจาก color palette ด้านล่าง สามารถเลือกสีตรงข้ามกัน หรือสีใกล้กัน ในการจัดวางสีใน slide ได้ แต่มีข้อพึงระวังว่า ไม่ควรใช้เกิน 3 สี ต่อ 1 ภาพ และไม่ควรใช้สีจัดแบบ 100% 



หารูปที่ไหนไม่ผิดลิขสิทธิ์

ปัจจุบันมีเว็บมากมากที่อนุญาตให้นำรูปไปใช้ได้ฟรี เราสามารถไปเลือกค้นหารูปจากเว็บต่างๆ เหล่านั้น และนำมาประกอบ slide การที่เลือกรูปได้สวยและเหมาะสม ก็จะทำให้ slide น่าดูได้ไม่ยาก



ตัวหนังสือ (font)

ตัวหนังสือประกอบ slide ก็มีผลอย่างมาก ขอเสนอเว็บ f0nt.com ที่แจกตัวหนังสือมีทั้งฟรี และลิขสิทธ์มากมาย ให้ไปดาวโหลด และเลือกแบบที่เหมาะสมกับการนำเสนอมาใช้ การเลือกใช้ขนาดของ font ที่ต่างกันในหน้าเดียวกัน ก็ทำให้ slide เราดูดีได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามความสำคัญของ font เป็นอันขาด



ทั้งหมดหลักการคิดที่อยากจะแลกเปลี่ยนสำหรับการทำเอกสารนำเสนอ คราวหน้า หากจะต้องทำ presentation อย่าลืมนึกถึงเรื่องเหล่านี้ presentation ของเราจะดูดีได้ง่ายๆ เพียงแค่เราคิดมากกว่าการใส่ข้อมูลลงไปอย่างเดียว

Credit: ภาพจาก freepik.com / font จาก f0nt.com

Sunday, May 21, 2017

ทำอย่างไร...อยากพูดภาษาอังกฤษให้ได้เสียที


ภาษาอังกฤษเป็นยาขมสำหรับคนไทยมานานแสนนาน โดยเฉพาะเรื่องการพูดคนไทยส่วนใหญ่เกรงกลัวการสนทนาภาษาอังกฤษมาก หลายคนโทษว่าต้นเหตุมาจากการที่เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก และบางคนก็กล่าวว่ามันมาจากระบบการสอนภาษาอังกฤษของประเทศเราที่เน้นการจับผิด และเริ่มต้นด้วย grammar เป็นหลัก

แต่สำหรับผู้เขียน สรุปกับตัวเองว่า เป็นเพราะเรายังพยายามไม่มากพอ ...จะอะไรก็แล้วแต่ ปัญหานี้ยังคงอยู่ และเกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนบทความนี้เช่นกัน ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนภาษาอังกฤษมาแค่พอผ่าน (เพราะกลัวครู เพราะไม่สนุก เพราะคิดว่าไม่สำคัญ ฯลฯ) เมื่อเติบโตมา มีหน้าที่การงาน และต้องพบเจอชาวต่างชาติเป็นระยะๆ ทำให้ต้องมานั่งคิดถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง และบอกตัวเองว่าฉันจะพูดภาษาอังกฤษ (ให้พอรู้เรื่อง) กับเขาให้ได้

การพูดภาษาอังกฤษ ไม่ได้หมายถึงประโยคโต้ตอบ สื่อสารทั่วไปที่อาจหาได้ในหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ก แต่มันหมายถึงการขึ้นไปพูดต่อหน้าสาธารณชน ต่อหน้าผู้ร่วมประชุม หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Public Speaking"

หลังจากลองถูกลองผิดมาหลายแบบ ทั้งเรียน online course การเรียนตัวต่อตัวกับครูเป็นชั่วโมงๆ ไป ก็พบว่าวิธีที่ได้ผลที่สุด (สำหรับตัวเอง) คือการไปเข้าร่วม Toastmasters

โทสต์มาสเตอร์ เป็นองค์กรระหว่างประเทศ (International Organization) ที่ไม่แสวงหากำไร เริ้มตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนปี 2500 โดยครูชาวอเมริกัน (ที่เกษียนแล้ว) ท่านหนึ่งที่เห็นว่าการพูดหน้าชั้นเรียน และการพูดต่อที่ชุมชนของคนในประเทศมีปัญหา จึงจัดตั้งคลับ หรือชมรมคนรักการพูดต่อที่ชุมชนขึ้นมาใช้ชื่อว่า Toastmasters Club





ดังนั้นโทสต์มาสเตอร์คลับ จังไม่ได้เริ่มจากการฝึกพูดภาษาอังกฤษ แต่เป็นการฝึกวิธีการพูดต่อหน้าคนอื่นให้มีความมั่นใจ ถูกต้อง เหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป

โทสต์มาสเตอร์ ตั้งในประเทศไทยมาก่อนปี 2500 เช่นกัน โดยคลับแรกได้แก่ Bangkok Toastmasters Club ซึ่งปัจจุบันยังมีการดำเนินงานอยู่

หลักการของโทสต์มาสเตอร์

1. เป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่ต้องการฝึกการนำเสนอ การพูด การแสดงออกต่อที่ชุมชนต่างๆ เช่น ที่ประชุม งานเลี้ยง การสัมมนา เรียกส่วนนี้ว่า Communication skills

2. การฝึกบทบาทสมมติในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (โดยใช้ภาษาอังกฤษ) ไม่ว่าจะเป็นประธานที่ประชุม การจัดทำเอกสาร การต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม การประเมินผลการพูดของผู้อื่น หรือการร่วมกันพัฒนาคลับให้ก้าวหน้า เป็นต้น เรียกส่วนนี้ว่าการฝึกภาวะผู้นำ (Leaderships)

3. การฝึกในข้อ 1 และ 2 จะผ่านกระบวนการการประชุมของคลับทุกอาทิตย์ (หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ แล้วแต่ตกลงกัน) รายละเอียดการประชุมจะพูดถึงในหัวข้อต่อไป

4. การฝึกในข้อ 1 และ 2 จะมีคู่มือ (Manual) ซึ่งจัดทำโดย Toastmasters International เป็นหลักสากล ทุกคลับจะฝึก และพัฒนาสมาชิกแบบเดียวกัน ทำให้มีมาตรฐานที่ใกล้กันได้ในระดับหนึ่ง และหากจบคู่มือ 2 เล่มแล้ว ผู้ฝึกจะพัฒนาฝีมือตัวเองไปขั้นอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจงอีกก็ได้ เช่น หากต้องการเป็นผู้พูดแบบให้กำล้งใจ โคช ก็จะมีคู่มือการฝึกพูกแบบโคช แยกต่างหาก เรียกคู่มือกลุ่มนี้ว่า Advance Communication Skills

5. เน้นความเป็นมิตร ไม่ตัดสินถูกผิด สร้างกำลังใจ - หลัการข้อนี้ถือว่าสำคัญที่สุดของ โทสต์มาสเตอร์ กล่าวคือ การดำเนินงานทั้งหมดของคลับ ทั้งการประชุม การอบรม ล้วนเป็นการพัฒนาโดยพื้นฐานของการเสริมสร้างกันให้เข้มแข็งขึ้น ติเพื่อก่อ สร้างกำลังใจ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้พูดมั่นใจในการไปยืนต่อหน้าคนอื่นให้มากที่สุด

หลักการของโทสต์มาสเตอร์คือการพัฒนาตนเองดว้ยการฝึกฝนตามลำดับขั้น (Step by Step) และฝึก ด้วยการปฏิบัติ (Leaning by Doing) ใช้หลักพัฒนาบุคลิกภาพจากภายใน คือการสร้างความเชื่อมั่นใจตนเอง ลดความประหม่า เพิ่มความสามารถที่จะพูดได้ในทุกสถานการณ์

รูปแบบการประชุม

การประชุมประจำอาทิตย์ของโทสต์มาสเตอร์จะเปิดรับทั้งสมาชิก และไม่ใช่สมาชิกให้เข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยทุกคลับที่เป็นคลับเปิด (มีบางคลับที่เปิดให้เฉพาะสมาชิกภายในองค์กร หรือหน่วยงานของตนเอง) จะเปิดให้คนภายนอกเข้าร่วมประชุมได้ โดยการประชุมแต่ละครั้งจะแบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก ได้แก่

ช่วงที่ 1 แนะนำตัวเอง ต้อนรับ และ Un-prepared Speeches (Table Topics) ช่วง Table Topics เป็นการเน้นการตอบคำถามแบบที่เราไม่ได้เตรียมมาก่อน เป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ และเป็นคำถามเปิดเพื่อให้สามารถแสดงความคิดเห็น เป็นการฝึกทักษะการพูดแบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน (ส่วนนี้เปิดให้ทั้งสมาชิก และไม่ใช่สมาชิกตอบคำถามได้โดยการสมัครใจ)

ช่วงที่ 2 การพูดประจำอาทิตย์ (Prepared Speeches) เป็นการพูดในหัวข้อที่สมาชิกเตรียมตัวมาก่อน โดยจะเป็นการพูดในหัวข้อตามคู่มือ (ดูรายละเอียดคู่มือและหัวข้อที่ให้พูดในหัวข้อต่อไป)

ช่วงที่ 3 การประเมินผล (Evaluation Session) เป็นการประเมินการประชุมทั้งหมด ตั้งแต่การเปิดประชุม การพูดในหัวข้อ Table Topics และการวิเคราะห์ Speeches ประจำอาทิตย์ โดยอาศัยสมาชิกผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการติเพื่อก่อ หรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น




พูดเรื่องอะไรบ้าง (Topics)

ใน Manual คือคู่มือเล่มแรก จะกำหนดให้เราต้องพูด 10 หัวข้อ

Speech 1 แนะนำตนเอง (Ice Breaking)
Speech 2 การจัดลำดับขั้นตอนการพูด (Organize Your Speech)
Speech 3 พูดให้ตรงประเด็น (Get to the Point)
Speech 4 การใช้คำที่เหมาะสม กระชับ ตรงประเด็น (How to Say It)
Speech 5 การใช้มือ ใช้ท่าทางสื่อความ (Your Body Speaks)
Speech 6 การใช้เสียงให้เหมาะสม (Vocal Variety)
Speech 7 การพูดแบบมีข้อมูลสนับสนุน (Research Your Topic)
Speech 8 การพูดแบบมีเครื่องมืออื่นๆ สนับสนุน เช่น slide (Get Comfortable With Visual Aids)
Speech 9 การจูงใจอย่างมีหลักการ (Persuade With Power)
Speech 10 การพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire Your Audience)

 สิ่งที่ได้

จากประสบการณ์การเข้าไปร่วมโทสต์มาสเตอร์มาปีกว่า มีการประชุมเกือบทุกอาทิตย์ สรุปว่าเหมือนเราได้ไปเรียนการพูดต่อหน้าชุมชนเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า 50 ครั้งต่อปี นอกจากนั้น บางทีก็มีการสันทนาการอื่นๆ ระหว่างสมาชิก ก็จะทำให้พัฒนาการใช้ภาษาไปได้เร็วมาก

นอกจากนั้นสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือความมั่นใจในการพูดต่อหน้าผู้อื่น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทั้งการพูดภาษาไทย การประชุมทั่วไป และการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ

ส่วนอื่นๆ ที่เป็นผลพลอยได้ คือการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น (สมาชิกคลับจะมาจากหลากหลายอาชีพ) ฝึกภาวะผู้นำ ผู้ตาม ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญในการทำงาน การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี มีเหตุผล

PIM Toastmasters Club

คลับที่ผู่เขียนเข้าไปร่วมได้แก่คลับที่ตั้งขึ้นโดยสถาบัญปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM Toastmasters Club ซึ่งมีประชุมทุกวันพฤหัส เวลา 18.00 - 20.00 น (ส่วนใหญ่ประชุมที่ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ สถาบัญปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ) ในแต่ละครังจะมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมประมาณ 15-20 ท่าน เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย บุคลากร นักศึกษา และสมาชิกจากภายนอกทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้มีประสบการณ์ที่เกษียนแล้วแต่ยังรักการพบพะเพื่อนใหม่เสมอๆ สำหรับค่าสมาชิกของ PIM ครั้งแรก 2,500/6 เดือน (เป็นค่าลงทะเบียนแรกเข้า ค่าคู่มือ และเอกสารต่างๆ) และครั้งต่อไป 1,900 บาท/6 เดือน [แต่ละคลับอาจมีค่าธรรมเนียบอื่นๆ เพิ่มตามเหมาะสม เช่นค่าสถานที่ ค่ากิจกรรม แต่ที่ PIM ได้รับการสับสนุนจากสถาบันฯ ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเหล่านี้]

Facebook : https://th-th.facebook.com/ThisIsPIMTM/


 
  • วีดีโอแนะนำ PIM Toastmasters Club  


  • สนใจเข้าร่วมประชุม ติดต่อ : vincentarpia@gmail.com หรือฝากข้อความไว้ใน Facebook Page
  • ดูคลับอื่นๆ ในประเทศไทย : เข้าไปที่เว็บ Toastmasters International แล้วคลิกที่ Find a Club หรือ https://www.toastmasters.org/find-a-club




 


Wednesday, February 1, 2017

@Nepal-Withlove : บทสนทนาบนความสูง 1,600 ฟุต


โพคารา (Pokhara) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเมืองหนึ่งของเนปาล ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปทางทิศตะวันตก 200 กิโลเมตร การเดินทางไปได้หลายทาง หากเดินทางด้วยรถตู้หรือรถส่วนตัว จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง บนเส้นทางทั้งที่กำลังสร้าง และราดยางเสร็จแล้ว อันคดเคี้ยว ระไล่ตามไหล่เขาสูงไปตลอดทาง สำหรับคนที่กลัวความสูง ไม่ชอบความตื่นเต้น ขอแนะนำให้เดินทางไปเมืองนี้ด้วยเครื่องบิน เพราะจะประหยัดเวลาและลดความ "เสียว" ลงไปได้เกินครึ่ง แต่...จะพลาดวิวอันสวยงามของทิวเขาสูง ต้นไม้แปลกตา ลำธานคดเคี้ยวลดเลี้ยวตามไหล่เขา ตลอดเส้นทาง รวมถึงภาพการใช้ชิวิตของผู้คนที่อยู่บนที่สูงเสียดฟ้าแบบนั้น




โพคารา เมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของเนปาล อาจจะเป็นที่ 2 รองจากกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล จากที่นี่สามารถมองเห็นยอดเขาสูงได้ถึง 5 ยอด คือ Dhaulagiri, Manaslu, Machhapuchhre และAnnapurana เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของโพคารา คือ เป็นเมืองที่มีทะเลสาบใหญ่ น้ำนิ่ง รอบๆ ทะเลสาบเป็นทิวเขาสูง กลางทะเลสาบมีเกาะเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

...จากที่เล่ามาทั้งหมดแปลว่า ถ้ามาเนปาล ไม่มาโพคารา ก็อาจจะเรียกได้ว่า มาไม่ถึง...

โพคารามีภูเขาสูงเหมาะจะทำกิจกรรม adventure ต่างๆ  เช่น เดินป่า paragliding (ร่มร่อน) หรือการกระโดดจากหน้าผาสูง ร่อนร่มลงมายังจุดหมายด้านล่าง ยอดเขา Sarangkot ที่มีความสูงกว่า 1,600 ฟุต เป็นจุดหลักที่ใช้ในการเดินป่า และบินด้วยร่มร่อน ถ้าคุณไปถึงโพคารา จะพบว่ามีบริษัทที่เปิดให้บริการในการพานักท่องเที่ยวไปเดินป่า และร่อนด้วยร่มนี้มากมายหลายแห่ง

เปิดประสบการณ์ "ร่มร่อน"

ตอนแรกที่รู้ว่าจะแวะพักโพคาราสักสองสามคืน ฉันคิดเพียงว่าจะได้นั่งเรือเล่น นอนชิวดูวิวทะเลสาบ และเดินป่าแบบเบาๆ แต่กลุ่มที่ไปด้วยตกลงกันว่าจะไปลองเล่นร่มร่อน (paragliding) และคะยั้นคะยอให้ฉันร่วมกลุ่มไปด้วย

ราคาการใช้บริการกิจกรรมนี้สูงถึง 100 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างแพงสำหรับฉัน แต่หลังจากคิดไปคิดว่า จะมาเนปาลกันสักกี่ครั้งเชียว ก็เลยตัดสินใจลองเสียหน่อย

บริการเล่นร่มร่อน หาได้ทั่วไปตามโรงแรมที่พักในโพคารา เจ้าถิ่นชาวเนปาลเลือก FLY TG Paragliding ฉันกลับกลุ่มเดินจากโรงแรมไปรอรถให้บริการพานักท่องเที่ยวไปร่อนร่ม ที่หน้าบริษัท ราวสิบโมง รถตู้ของบริษัทก็พาพวกเราไปยังยอดเขา Sarangkot จุดที่เป็นสถานที่ร่อนร่ม

เมื่อรถแล่นออกไปได้สักระยะ พนักงานคนหนึ่งในรถก็แนะนำการเดินทาง และกิจกรรมเที่ยวนี้ของพวกเราอย่างคร่าวๆ เน้นย้ำว่ากิจกรรมนี้ปลอดภัย ถ้าเราปฏิบัติตามข้อแนะนำของเขาอย่างเคร่งครัด หลังจากนั้น ก็ให้พวกเราแนะนำตัวเองสั้นๆ พอเป็นพิธี ก่อนจะเปิดโอกาสให้ถามข้อมูลที่อยากรู้

"คนที่อายุน้อยที่สุดที่พวกคุณเคยพาบินคือเท่าไหร่" คำถามของฉัน จริงๆ แล้วมันมีนัยแฝงว่า คนที่กล้าที่อายุน้อยที่สุด อายุเท่าไหร่

"สี่ขวบครับ" ราช หนึ่งในทีมร่มร่อนตอบ "เป็นเด็กยุโรปที่มาเที่ยวกับพ่อแม่" แววตาสีเข้มของคนตอบมองลึกมาที่ดวงตาของฉัน แล้วก็อมยิ้ม ราวกับเขาจะอ่านใจของฉันออก "ไม่ต้องห่วงครับ พวกผมเป็นมือโปร เราได้รับการฝึกมาแล้วอย่างดี"

"พวกคุณบิน เอ้ย ร่อนกันทุกวันหรือเปล่าคะ" คำถามแฝง ที่แปลได้ว่า .... พวกคุณมีประสบการณ์มานานแค่ไหน มากพอหรือยัง

คำถามนั้นได้คำตอบกลับมาเป็นแววตาไหวระริก

การแสดงออกแบบนั้นทำให้ฉันเม้มปาก "ฉันไม่ได้กลัว"

"ผมบินเกือบทุกวันครับ ที่นี่ร่อนร่มได้เกือบทุกฤดู มันมีความสวยที่แตกต่างกันตามฤดูกาล วันนี้ผมมีร่อน สี่รอบ" แววตาสีเข้มตอบมาอีกรอบ "ยังไม่เคยทำให้ผู้โดยสารของผมบาดเจ็บสักคน"


รถตู้ไต่ไล่ระดับจากตีนเขาสู่หน้าผาสูง ใช้เวลากว่ายี่สิบนาที จึงถึงหน้าผาที่ใช้ทำกิจกรรมนี้ เราพบว่ามีกลุ่มอื่นๆ ร่อนร่มกันไปบ้างแล้ว ดูได้จากกลุ่มคนที่รอคิวที่จะร่อน ก็รู้ได้ทันทีว่ามันเป็นกีฬา (หรือกิจกรรม) ที่ได้รับความนิยมไม่น้อย

ร่มร่อนขนาดกว้างหลายเมตรถูกกางออกอย่างชำนาญ ราชเดินมาหาฉัน และแนะนำการทำงานของร่ม "ไม่ต้องทำอะไร ตอนที่ผมบอกให้วิ่ง ก็วิ่ง ตอนที่บอกกว่ากระโดดก็กระโดด ทำตัวสบายๆ ที่สุด เข้าใจไหม"

ฉันพยักหน้า

"ครั้งนี้ครั้งแรกใช่ไหม"

ฉันพยักหน้าอีกรอบ

"ผมชอบมวยไทยนะ ฝึกอยู่  ทุกปีผมจะบินไปฝึกมวยไทยอย่างน้อยสองเดือน ปลายปีนี้ผมจะขึ้นชก" จู่ๆ เขาก็บอกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ระหวางที่เขาติดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยไว้ที่ด้านหลังของฉัน

"ไม่เชื่อ" เขาถามเมื่อเห็นฉันมองตาเขางงๆ

"เปล่าค่ะ แค่แปลกใจ"

"ผมชอบเมืองไทยนะ เอาล่ะ ผมจะถ่ายรูปคุณ จะอัดวีดีโอให้ด้วย ยิ้มสวยๆ แล้วกัน....พร้อมหรือยัง"

"...."

เมื่อคำตอบคือเงียบ อีกฝ่ายจึงหัวเราะ ก่อนจะตบบ่าของฉันเบาๆ เขาเอากล้องขนาดเล็กติดไว้ที่ปลายไม้เซลฟี่ แล้วก็ดึงเอวฉันเข้าไปชิดตัวอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

"ยิ้มครับ ยิ้ม เอากว้างๆ หน่อย บอกให้โลกรู้ว่าเราจะไปผจญภัยกันแล้ว"

คนพูดกดกล้องรัวๆ จากนั้นก็ดึงฉันไปที่ร่มร่อน ติดอุปกรณ์เพื่อให้เขายืนซ้อนหลังฉันได้ และอุปกรณ์ผูกเราสองคนไว้ด้วยกัน

ฉันได้แต่กัดริมฝีปาก พูดอะไรไม่ออก เพราะว่าจริงๆ แล้ว ฉันกลัว.....

"ผมจะอยู่กับคุณ ไม่ต้องกลัวครับ" น้ำเสียงนุ่มๆ นั่นอยู่เบื้องหลัง "พร้อมนะครับ วิ่ง..."

จริงๆ แล้ว ฉันทำทุกอย่างไปตามสัญชาติญานและคำสั่งจากคนที่อยู่ด้านหลัง ถึงเวลานี้ จะเปลี่ยนใจก็ไม่ได้ จะขืนตัวก็อาจจะทำให้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเลวร้ายเกินคาดเดา ฉันจึงทำได้แต่เพียงวิ่ง และวิ่ง

"กระโดด!" เสียงท้ายสุดเมื่อปลายเท้าของฉันเกือบติดขอบหน้าผาสูง "ดีมากครับ คุณเก่งมาก"

ฉันไม่ได้ทำอะไร ฉันเพียงแต่ไม่ขัดขืน

"ทำตัวสบายๆ นะครับ คิดเสียว่าตอนนี้คุณเป็นนก" เสียงกล้องรัวจากปลายไม้เซลฟี่ "ยิ้มหน่อยสิครับ"

"ฉัน..." ฉันถอนหายใจอย่างโล่งอก การอยู่กลางอากาศ บนความสูงหลายร้อยฟุดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ภายใต้การดูแลของมืออาชีพ ฉันส่งยิ้มให้กล้อง ชูสองนิ้ว และบอกตังเองดังๆ ว่า ฉันทำได้แล้ว

"เป็นไง รู้สึกยังไงบ้าง สนุกขึ้นบ้างไหม"

ฉันพยักหน้า "สนุกค่ะ รู้สึก...มีอิสระ"

คนที่บินอยู่ข้างหลังหัวเราะ "ครับ นี่คือเสน่ห์ของมัน เราเหมือนนก ท้องฟ้าเป็นของเรา ไม่มีการผูกพัน ไม่มีเรื่องอะไรให้คิด เพียงแค่เปิดใจ รับความอิสระและ...ความสุข"

ฉันหัวเราะรู้สึกคล้อยตาม

"ผมบินวันละหลายครั้ง ทุกครั้งให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันเลย..."

"ฉันเป็นลูกค้าที่ออกจะยากสำหรับคุณไหม"

"ไม่นี่" เขาตอบ "แต่ผมรู้ว่าคุณกลัว ไม่อยากมาตั้งแต่แรก ผมมองตาคุณออก"

ฉันปล่อยเสียงหัวเราะ "ใช่"

"แต่ผมรู้ว่าคุณจะชอบ คุณไม่ใช่คนที่ชอบอยู่นิ่งๆ คุณไม่ได้กลัว แค่ไม่รู้เท่านั้น"

ฉันไม่ได้ตอบอะไร

"ผมจะพาคุณไปตรงโน้น" คนนำทางชี้ไปยังทะเลสาบข้างหน้า "เราจะบินบนทะเลสาบกัน คุณจะรู้สึกว่านกมันรู้สึกอย่างไร"

ฉันไม่ปฏิเสธ สูดหายใจเข้าปอดลึก และกางแขน "ไปค่ะ"

หลังจบโปรแกรม ฉันได้ซีดีรูป และวีดีโอการร่อนร่มของตัวเองกับราชกลับมาเป็นที่ระลึก ได้รับความรู้สึกดีๆ และรอยยิ้มเป็นของขวัญ ได้รู้ว่าตัวเอง...กล้า และมีความสุขได้ ความสุขนั้น มันใกล้แค่เอื้อมเท่านั้นเอง

"ขอบคุณนะครับ ที่ใช้บริการของเรา คราวหน้า หวังว่า...จะได้บินกับคุณอีก"

"ขอบคุณเช่นกันค่ะ" ฉันตอบ และบอกไม่ได้ว่าจะมีครั้งหน้าหรือไม่

นั่นคือประโยคสุดท้าย ของบทสนทนาระหว่างฉันกับราช บนความสูงสุดใจนั้น


 


ส่องหนังสือเกี่ยวกับเนปาล

Saturday, December 31, 2016

@Nepal-Withlove : หุบเขากาฐมาณฑุ


เมื่อชะตาลิขิต

เนปาล...ประเทศที่ไม่เคยคิด ไม่เคยมีเป้าหมายว่าจะไป เพราะภาพลักษณ์ล้วนแต่มีสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความเชื่อ ศาสนา ปรัชญา และตนเองก็ไม่ใช่ผู้แสวงหาในแนวทางนั้น

จนอยู่ๆ มีโอกาสรู้จักสาวน้อย ซาบรีน่า หญิงสาวพลัดถิ่นจากประเทศนั้นมาเรียนต่อไกลถึงเมืองไทย ภาพลักษณ์ของเนปาลเปลี่ยนไปมากมายเพราะได้รู้จักและพูดคุยกับเธอ

"พี่คะ หนูจะกลับไปเยี่ยมบ้าน พี่อยากไปเที่ยวเนปาลกับหนูไหมคะ"

คำถามสั้นๆ มีเวลาคิดเพียงวันสองวัน แล้วฉันก็รับปากมาประเทศที่ชื่อคุ้นเคยว่าเป็นดินแดนศักสิทธิ์ หลากความเชื่อ ล้ำลึกเชิงวัฒนธรรม ตอนนั้นคิดเพียงว่า หากมีโอกาสเที่ยวประเทศนี้สักครั้ง การไปกับคนถิ่น ที่รู้ลึก รู้จริง น่าจะโอกาสดีเป็นที่สุด

เตรียมตัว

เนปาล เป็นประเทศที่ต้องขอวีซ่าในการเข้าประเทศ เลือกทำได้ที่สถานที่ทูตเนปาลประจำประเทศไทย (http://www.nepalembassybangkok.com/visathai.php) หรือจะไปขอวีซ่าได้ที่สถามบินเมื่อถึงเนปาลได้เลย (Visa on Arrival) โดยใช้หลักฐานง่ายๆ แค่
  • หนังสือเดินทาง (ที่มีอายุการใช้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน)
  • สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ฉบับ
  • แบบฟอร์มการขอวีซ่าดาวโหลดได้จากเว็บไซต์เบื้องต้น (กรอกหรือพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ)
  • รูปถ่ายสี 1 รูป (ขนาด 2x2 นิ้ว ที่มีพื้นหลังเป็นสีอ่อน ไม่มีลวดลาย ไม่สวมแว่นตากันแดด) ติดที่มุมขวาของแบบฟอร์มขอวีซ่า
  • ค่าธรรมเนียม (25 US$ สำหรับ 15 วัน)
นอกจากวีซ่า ก่อนไปควรเช็คสภาพอากาศก่อน เพื่อการเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะสม เนปาลอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย มีสี่ฤดู บางช่วงประเทศนี้อากาศหนาวกว่าไทยมาก สามารถเช็คสภาพอากาศได้ที่ http://www.holiday-weather.com/kathmandu/averages/ (สามารถเลือกเมืองที่จะไปได้)

ตั๋วเครื่องบิน จากประเทศไทยมีสายการบินหลายสายเดินทางไปเนปาล ราคาค่าตั๋วต่างกันเล็กน้อย สายการบินเนปาล ให้บริการได้ไม่เลว เครื่องบินใหม่ อาหารก็พอใช้ได้ หากต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ ก็ลองสายการบินนี้ก็ไม่เลว


สวัสดีกาฐมาณฑุ

สามชั่วโมงจากเมืองไทย เท้าก็แตะลงกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล เมืองนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา เมื่อเที่ยบกับกรุงเทพแล้ว เมืองนี้น่าจะมีขนาดเล็ก และมีความเจริญทางวัตถุน้อยกว่าอยู่พอสมควร ถนนหนทาง สิ่งก่อสร้างหลายแห่งอยู่ระหว่างแก้ไข เพิ่มเติมเป็นผลจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ที่ได้ทำลายอาการบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างไปมากมาย นอกจากนั้นการก่อสร้างใหม่ๆ อาจเป็นผลจากความเจริญที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาตามความเปลี่ยนแปลงของโลก

โรงแรมที่พักมีหลายระดับให้เลือก บริเวณที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวคือย่านทาเมล (Thamel) เนื่องจากเป็นย่านใจกลาเมือง และใกล้สถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ หลายแห่งในกาฐมาณฑุ ครั้งนี้ได้พักที่โรงแรมเล็กๆ ชื่อ Hotel Bhishwonath




อากาศปลายเดือนธันวาคมเย็นสบาย ด้วยอุณหภูมิต่ำกว่าเมืองไทยกว่าสิบองศา ตอนเช้าใกล้ๆ โรงแรมมีร้านขายของที่ระลึก มีร้านชา ร้านขายงานฝีมือพื้นเมืองให้เลือกซื้อ ยามเช้า ริมถนนมีพ่อค้ายกเตาแกสเล็กๆ มาขายชาร้อนริมถนนเป็นระยะๆ บรรยากาศดูแปลกตาสำหรับคนไทยอย่างเรา แต่สำหรับฉัน...
ทาเมลมีเสน่ห์ในแบบของมัน

ร้านขายของที่ระลึกย่นทาเมล



ร้านขายของริมทางเดินยามเช้า

บรรยากาศง่ายๆ ที่ย่านทาเมล

สิ่งที่สัมผัสแรกได้คือ ผู้คนดูเป็นมิตร (กว่าที่เคยคิดและมโนไปเองเอาไว้) ผู้ชายมักมาทำงานออกหน้า (เดาเอาเองว่าผู้ชายเป็นใหญ่) เพราะไม่ค่อยเห็นผู้หญิงออกมาทำงานด้านหน้าร้าน หรือในโรงแรมที่พักมากนัก ในร้านอาหาร พนักงานชายเท่านั้นที่เป็นคนเสิรฟ ขับรถ ขายของฯลฯ

ถึงตรงนี้ ....จุดเริ่มต้นของประสบการ์ใหม่ของฉัน เริ่มต้นขึ้นแล้ว